วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยอยุธยา


ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา
อยุธยาในช่วงแรกนั้นมิได้เป็นศูนย์กลางของชาวไทยในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีน ทั้งปวง แต่ด้วยความเข้มแข็งที่ทวีเพิ่มขึ้นประกอบกับวิธีการทางการสร้างความสัมพันธ์กับชาวไทย กลุ่มต่าง ๆ ในที่สุดอยุธยาก็สามารถรวบรวมกลุ่มชาวไทยต่างๆ ในดินแดนแถบนี้ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจอย่างหลวม ๆ ได้ กระทั่งเมื่อพม่าได้เข้ามารุกรานและสามารถครอบครองอยุธยาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง อยุธยาจึงได้หล่อหลอมเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ซึ่งก็ได้สร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับอยุธยาเป็นอย่างมาก แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดอยุธยาก็ไม่สามารถเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชาวไทยทั้งมวลได้ ทำให้ต้องถูกทำลายลงโดยกองทัพของพม่าอย่างง่ายดายเกินความคาดหมาย การล่มสลายลงของอาณาจักรอยุธยาทำให้ระบบระเบียบที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารนั้นถูกทำลายลง ความเข้มแข็งของอยุธยาจึงถูกแสดงออกภายหลังจากการล่มสลายลงของตัวมันเอง การประกาศเอกราชจากพม่าในเวลาอันสั้นในขณะที่ฝ่ายพม่าก็มีปัญหาเช่นกันอาจมิใช่ตัวอย่างที่ดีที่จะยกมาอ้างอิง แต่การก่อร่างสร้างอาณาจักรของชาวไทยขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางสภาพความแตกแยกและความพยายามที่จะเข้ามารุกรานจากกลุ่มชาวต่างๆ รายรอบนั้นย่อมแทบที่จะเป็นไปไม่ได้หากอาณาจักรอยุธยามิได้ฟูมฟักความเข้มแข็งนี้ไว้ให้ อาณาจักรใหม่ของชาวไทยยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในอีกรอบหนึ่งระหว่างกลุ่มขุนนางระดับล่างและกลุ่มขุนนางระดับสูงจาก อาณาจักรอยุธยาเดิม ซึ่งในที่สุดกลุ่มขุนนางระดับสูงจากอาณาจักรอยุธยาเดิมก็ได้รับชัยชนะ เนื่องจากเมื่ออาณาจักรเริ่มมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ความสามารถในเชิงรัฐศาสตร์และการเมืองอันลึกซึ้ง ย่อมทวีความสำคัญมากกว่าความสามารถในการสงครามประการเดียว



การปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น มีลักษณะดังนี้ การปกครองระยะนี้เริ่มเมื่อ (พ.ศ.1893-1991 ) สมัยพระเจ้าอู่ทองถึง
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แบ่งการปกครองได้ 2 ส่วน
ส่วนที่ 1) การปกครองส่วนกลาง การปกครองในเขตราชธานี และบริเวณโดยรอบราชธานีโดยได้จัดรูปแบบการปกครองแบบเขมร จัดหน่วยการปกครองเป็น 4 หน่วย แต่ละหน่วยมีเสนาบดีบริหารงาน ได้แก่ กรมเวียง(ดูแลในเขตเมืองหลวง) กรมวัง(ดูแลพระราชสำนักและพิจารณาคดี)
กรมคลัง(ดูแลพระราชทรัพย์) กรมนา(จัดเก็บภาษีและจัดหาเสบียงสำหรับกองทัพ)
ส่วนที่ 2) การปกครองแบบหัวเมือง แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
1. เมืองลูกหลวง หรือเมืองหน้าด่านตั้งอยู่รอบราชธานี 4 ทิศ เช่น ลพบุรี นครนายก พระประแดง สุพรรณบุรี ให้โอรสหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงไปปกครอง
2. หัวเมืองชั้นใน อยู่ถัดจากเมืองลูกหลวงออกไป ได้แก่ พรหมบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตะนาวศรี ไชยา นครศรีธรรมราช ให้ขุนนางที่กษัตริย์แต่งตั้งไปปกครอง
3.หัวเมืองชั้นนอก หรือหัวเมืองพระยามหานครคือหัวเมืองขนาดใหญ่ห่างจากราชธานีผู้ปกครองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองเดิมหรือตัวแทนที่ราชธานีส่งมาปกครอง
4. เมืองประเทศราช เป็นเมืองที่ยังได้ปกครองตนเองเพราะอยู่ไกลที่สุด มีความเป็นอิสระเหมือนเดิมแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการตามกำหนดส่งกองทัพมาช่วยเวลาสงคราม เช่นสุโขทัย เขมร เป็นต้น



การปกครองสมัยอยุธยาตอนกลาง ( 1991-2231) มีลักษณะดังนี้ ช่วงเวลาทางการเมืองสมัยอยุธยาตอนกลางได้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ ทางการเมือง โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นหลักในการปกครองแบ่งได้ 2 ช่วง
ช่วงที่ 1 เป็นช่วงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปรับปรุงการปกครองใหม่เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่างเช่น เศรษฐกิจ ควบคุมหัวเมืองได้ไม่ทั่วถึงและเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านมีอำนาจมากขึ้น และมักแย่งชิงบัลลังก์อยู่เนืองๆ ประกอบกับอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าเดิมพระองค์ได้จัดการแยก ทหารและพลเรือนออกจากกัน และจัดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้ราชธานีมีอำนาจมากขึ้น มีการควบคุมเข้มงวดมากขึ้นมีการปฏิรูปการปกครองแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลางและหัวเมือง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแยกการปกครองส่วนกลางเป็น 2 ฝ่าย คือ ทหารและพลเรือน ทหารมีสมุหกลาโหมดูแล
ส่วนพลเรือนมีสมุหนายกดูแล
การปฏิรูปส่วนหัวเมือง แยกเป็น 3 ส่วน
หัวเมืองชั้นใน ยกเลิกหัวเมืองลูกหลวง จัดตั้งเป็นเมืองชั้นใน ทรงขุนนางไปครองเรียก ผู้รั้ง
หัวเมืองชั้นนอก คือหัวเมืองประเทศราชเดิม ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาเรียกว่า เมืองพระยามหานคร จัดการปกครองใกล้ชิด เช่น พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เป็นเมืองชั้นเอก โท และตรี
เมืองประเทศราช คือเมืองชาวต่างชาติที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ เช่น ตะนาวศรี ทะวาย เขมร ให้เจ้านายพื้นเมืองเดิมปกครอง ส่งบรรณาการและกองทัพมาช่วยเวลาเกิดสงคราม
ช่วงที่ 2 ตรงกับสมัยพระเพทราชา ถ่วงดุลอำนาจทางทหารโดยให้สมุหกลาโหและสมุหนายก ดูแลทั้งทหารและพลเรือน โดยแบ่งหัวเมืองใต้ให้สมุหกลาโหมดูแลหัวเมืองทางใต้และพลเรือน ส่วนพลเรือนและทหารฝ่ายเหนือให้สมุหนายกดูแล





การปกครองสมัยอยุธยาตอนปลาย ( ในช่วง 2231-2310) มีลักษณะดังนี้ พอถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์ ทรงปรับเปลี่ยนอำนาจทางทหารเพื่อถ่วงดุลมากขึ้นโดย ให้พระโกษาธิบดีหรือพระคลัง ดูแลทหารและพลเรือนทางใต้แทนสมุหกลาโหมส่วนสมุหนายกยังคงเหมือนเดิม
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยอยุธยาตั้งแต่ตอนต้นจนถึงตอนปลายนั้น กระทำเพื่อการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางให้มากที่สุด เพื่อถ่วงอำนาจระหว่าง
เจ้านาย และ ขุนนางไม่ให้เป็นภัยต่อพระมหากษัตริย์นั้นเอง





สรุป การปกครองสมัยอยุธยามีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือพยายามรวมอำนาจการปกครองสู่ส่วนกลาง และควบคุมการปกครองหัวเมืองต่างๆให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับพยายามจัดรูปแบบการปกครอง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับกลุ่มเจ้านายและขุนนาง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการปกครอง ดังนั้น สมัยอาณาจักรอยุธยาจึงเกิดการแย่งชิงอำนายทางการเมืองระหว่างพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง ตลอดจนสิ้นอยุธยา